8 ข้อแนะนำในการเลือกหัวข้อวิจัยปริญญาเอกที่ “ใช่”
- เริ่มต้นจากความรักและชอบ หรือ มีที่มาจากภูมิหลัง ความรู้ และทักษะที่ผู้เรียนมีความถนัดหรือสนใจ เพราะผู้เรียนต้องอยู่กับวิจัยนี้เป็นระยะเวลานาน หัวข้อที่ “ใช่” ควรเป็นเรื่องที่ผู้เรียนมี ฉันทะ หรือ ใจที่รักในหัวข้อนั้น
- ต้องมีความชัดเจน มีประเด็นหลักเพียงประเด็นเดียว อย่าศึกษาหลายประเด็น เพราะเพียงแค่ประเด็นเดียวกับการศึกษาให้ได้ลึกซึ้งตามมาตรฐานของปริญญาเอกก็ท้าทายมากพอแล้ว
- ยิ่งผู้เรียนมองเห็นภาพชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นได้มากเพียงใด ก็ยิ่งสะท้อนความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จ ลองตั้งคำถามแล้วตอบให้ได้ว่า หัวข้อวิจัยที่จะทำนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และ อย่างไร เมื่อนำคำตอบทุกข้อมารวมกันแล้วดูมีเหตุผล มีความเชื่อมโยง ก็น่าจะมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง ในช่วงการเลือกหัวข้อ ควรคิดให้รอบ มองให้ทะลุ เพราะการคิดให้เยอะตั้งแต่แรกจะช่วยให้เหนื่อยน้อยลงระหว่างการลงมือทำ
4.ไม่จำเป็นต้องคิดหัวข้อที่ยิ่งใหญ่ หรูหรา อลังการ โดยหวังว่ายิงปืนนัดเดียว จะได้ทั้งใบปริญญาและรางวัลโนเบล ควรเลือกหัวข้อที่มีขนาดพอเหมาะสามารถทำให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด ส่วนการคว้ารางวัลระดับโลกนั้น ค่อยทำเมื่อเรียนจบปริญญาเอกแล้วก็ยังไม่สาย
- ผู้เรียนควรพิจารณาความเป็นไปได้ในแง่ของการเก็บข้อมูล การลงพื้นที่วิจัย และประชากร ผู้ให้ข้อมูล ต้องพิจารณาว่าเป็นหัวข้อที่มีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอ ข้อมูลต่างๆสามารถเผยแพร่ได้ และผู้เรียนสามารถเข้าถึงซึ่งแหล่งที่มาของข้อมูลได้ เป็นต้น
- หัวข้อวิจัยที่ “ใช่” นั้นไม่ได้หล่นลงมาจากฟากฟ้า ผู้เรียนต้องขวนขวายเป็นอย่างมาก เช่น เริ่มต้นจากการสำรวจวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องสัก 20 ชิ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งไอเดียที่ “ใช่” การอ่านที่เพียงพอจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถระบุชัด รวมถึงจำกัดขอบเขตงานวิจัยให้มีความพอดีและเฉพาะเจาะจงได้
อย่านั่งเฉย แล้วตีโพยตีพายว่าคิดหัวข้อไม่ออก เพราะถ้าผู้เรียนไม่ยอมออกไปเผชิญโลกกว้างของวิชาการ ไม่ติดตามข่าวสาร หรือ ไม่เห็นปรากฎการณ์ของปัญหาสังคมในแง่มุมต่างๆ ผู้เรียนก็จะคิดหัวข้อไม่ออกอยู่เช่นนั้น
- บางทีหัวข้อวิจัยที่ “ใช่” ก็เริ่มจาก คำที่ “ใช่” เพียงคำเดียว ค้นหา ระบุ คำที่สนใจแล้วลองศึกษาคำๆนั้นลงไปในเชิงลึก ระหว่างการอ่านหนังสือต่างๆ จึงควรจด คำหรือประเด็น ที่ดูเข้าท่า น่าสนใจไว้ แล้วค่อยๆ ค้นคว้า อ่าน และ พิจารณาเพื่อนำมาพัฒนาเป็นประเด็นคำถามวิจัยต่อไป
- ผู้เรียนต้องมีความยืดหยุ่น อย่าถึงขั้นยึดติดกับหัวข้อวิจัยที่คิดได้ในตอนแรกนี้ เพราะการวิจัยเป็นกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผู้เรียนต้องพร้อมที่จะปรับหัวข้อเพื่อรับกับสถานการณ์ เหตุและปัจจัยที่ผันแปรได้เสมอ
หัวข้อวิจัย คือ จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตการวิจัยของผู้เรียน การเฟ้นหาหัวข้อวิจัยปริญญาเอกที่ “ใช่” จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เปรียบเสมือนการติดกระดุม ถ้าติดเม็ดแรกถูก เม็ดต่อๆไปก็จะถูกด้วยเช่นกัน…
ขอให้เจอกับหัวข้อที่ “ใช่” ในเร็ววัน